คนไทยกับฟุตบอลโลก 48 ปีก่อนจะมาถึงวันนี้

คนไทยกับฟุตบอลโลก 48 ปีก่อนจะมาถึงวันนี้

อีกเพียง 4 วันเท่านั้นเอง ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 21 หรือ “ฟุตบอลโลก 2018” ที่รัสเซียขันอาสาเป็นเจ้าภาพก็จะเริ่มขึ้นแล้ว

เพื่อให้เข้าบรรยากาศบอลโลก หัวหน้าทีมซอกแซกขออนุญาตร่วมแจมด้วยตามธรรมเนียมนะครับ และก็คงจะเป็นการแจมตามสไตล์ของคอลัมน์นี้ คือการเจาะเวลากลับไปหาอดีต เพื่อรำลึกถึงบรรยากาศฟุตบอลโลกในประเทศไทย เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่แฟนบอลโลกรุ่นเก่าในการนึกถึงความหลัง และเพื่อให้แฟนบอลโลกรุ่นใหม่ๆได้รับรู้รับทราบว่า บอลโลกสมัยก่อนทำให้คนไทยมีความสุขทั้งประเทศอย่างไรบ้าง

ข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่จะเขียนต่อไปนี้ ปรากฏอยู่ในคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2557 เกือบทั้งหมด มีการตกแต่งเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

ย้อนกลับไปถึงฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดเตะที่ อุรุกวัย เมื่อปี 1930 หรือ พ.ศ.2473 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในบ้านเราประมาณ 2 ปีนั้น หัวหน้าทีมซอกแซกยังล่องลอยอยู่ในส่วนไหนของโลกก็ไม่รู้

แต่เท่าที่เคยตรวจค้นเอกสารย้อนหลัง คนไทยยุคนั้นแทบไม่รู้เลยว่ามีการแข่งขันฟุตบอลโลกเกิดขึ้นในโลกนี้ ยกเว้นคนไทยที่ไปเรียนนอก ซึ่งก็ยังมีไม่มากนักใน พ.ศ.โน้น

จนกระทั่งปี 2501 หรือ ค.ศ.1958 อีก 40 ปี ผ่านมา ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 6 ที่ สวีเดน เป็นเจ้าภาพ คนไทยจึงเริ่มคุ้นกับคำว่า ฟุตบอลโลกมากขึ้น และรู้ว่ามีเจ้าหนูนักเตะวัยเพียง 17 ปี คนหนึ่งเล่นบอลเก่งมาก เป็นศูนย์หน้าของทีมชาติบราซิล และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้บราซิลเป็นแชมป์โลกในปีดังกล่าว

เจ้าหนูรายนี้ก็คือ เปเล่ นั่นเอง มีหนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าวและเรื่องราวของเขา พร้อมด้วยทีมชาติบราซิลไว้ในหน้ากีฬาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ข่าวใหญ่เพราะยุคนั้นข่าวกีฬาที่ใหญ่ที่สุดคือ ข่าวการชกมวยไทย

บอลโลกครั้งถัดไป ไปเตะกันที่ชิลี ในปี 2505 บราซิล ได้เป็นแชมป์อีกหน หัวหน้าทีมซอกแซกเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 3 จำได้ว่ามีการลงข่าวทางหน้ากีฬาของหนังสือพิมพ์ต่างๆบ้างแต่ก็ยังเป็นข่าวเล็กๆอยู่ดี

ต่อมาอีก 4 ปี พ.ศ.2509 หรือ ค.ศ.1966 อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ช่วงนี้คนไทยเริ่มรู้จักฟุตบอลโลกมากขึ้น มีการเสนอข่าวสั้นๆ ทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และการสรุปผลทางสถานีวิทยุ ททท. และ ยานเกราะ โดย วิทยา สุขดำรงค์

หนังสือพิมพ์เริ่มลงรายละเอียดมากขึ้นในหน้ากีฬาโดยเฉพาะ เดลินิวส์ กับ ไทยรัฐ ทำให้คนไทยรู้จัก ยูเซบีโอ หรือไอ้เสือดำ แห่งโมซัมบิก นักเตะโปรตุเกส ที่เป็นดาวซัลโวของปีนั้น และรู้สึกดีใจไปทั่วประเทศที่ทีม เกาหลีเหนือ ในฐานะตัวแทนเอเชียเขี่ยยักษ์ อิตาลี ตกรอบแรกอย่างน่าอัศจรรย์

ในปีนั้นเอง อังกฤษ ได้แชมป์โลก ครั้งแรกและครั้งเดียวด้วยการเอาชนะเยอรมันตะวันตก 4-2 หลังเสมอกัน 2-2 ต้องต่อเวลาก่อนที่อังกฤษจะชนะ 4-2 โดยลูกที่อังกฤษยิงได้ยังเป็นลูกปริศนาจนทุกวันนี้ว่าเข้าหรือไม่เข้า แต่ผู้ตัดสินเป่าให้เข้าและให้อังกฤษได้ประตูไปเรียบร้อย

จากนั้นมาอีก 4 ปี ก็มาถึงปีประวัติศาสตร์ สำหรับแฟนบอลชาวไทย นั่นก็คือฟุตบอลโลกครั้งที่ 9 ค.ศ.1970 หรือ พ.ศ.2513 ที่เม็กซิโก

ยุคนั้นเป็นยุคเผด็จการเต็มใบมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และ จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีมหาดไทยคุมอำนาจการบริหารประเทศอยู่ในมือ

สื่อมวลชนค่อนข้างอึดอัด เพราะพูดเขียนหรือพาดหัวอะไรหวือหวานักไม่ได้…ข่าวการเมืองขึ้นหน้า 1 ไม่ค่อยได้ ข่าวอาชญากรรม ถ้าแรงไปก็ขึ้นหน้า 1 ไม่ได้เช่นกัน

ไทยรัฐ กับ เดลินิวส์ ตัดสินใจพร้อมกันวันเดียวกันดันข่าวพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 เป็นหัวใหญ่ 3 ชั้น หน้า 1 และหลังจากนั้นก็พาดหัวยักษ์หน้า 1 โดยตลอด

ปรากฏว่า แจ็กพอตเลยครับ เพราะ ไทยรัฐ–เดลินิวส์ ขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า แฟนๆ ไปรอซื้อเพื่อตามอ่านผลการแข่งขันตามแผงหนังสือต่างๆ ในตอนสายๆ จนขายหมดเกลี้ยงทั้ง 2 ฉบับ

เดือดร้อนถึงฉบับอื่น รวมทั้ง พิมพ์ไทย ยักษ์เล็กอันดับ 3 ของประเทศใน พ.ศ.นั้น ที่หนังสือเหลือแบะแบนเป็นกิโล

หัวหน้าทีมซอกแซกที่มาทำงานพิเศษตอนเย็นในฐานะพนักงานแปลข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย จึงถูกตามตัวให้ไปแปลข่าวฟุตบอลโลก เพื่อจะผลักดันขึ้นหน้า 1 สู้กับ ไทยรัฐ–เดลินิวส์ ในสัปดาห์ต่อมา

ทุกๆฉบับเช่นกัน ไม่สามารถจะนิ่งอยู่ได้ต้องหันมาเสนอข่าวฟุตบอลโลก หน้า 1 ทำให้เกิดบอลโลก “ฟีเวอร์” ทั่วประเทศไทย

ทีมขวัญใจชาวไทยใน พ.ศ.2513 ก็คือ ทีม บราซิล นี่เอง เนื่องจากเล่นดีมาก ชนะมาโดยตลอด จากฝีเท้าของ 3 ทหารเสือ “เปเล่–ทอสเทา–แจร์ซินโฮ” (ชื่อเรียกในปีดังกล่าว)

กระแสฟุตบอลโลกแรงขึ้นทุกวันจากการโหมกระพือของสื่อทุกสื่อ โดยเฉพาะจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทำให้ในที่สุดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ก็ตัดสินใจถ่ายทอดสดนัดชิง

คนไทยมีความสุขกันมากแม้จะต้องอดนอนตื่นมาดูตอนดึกและกว่าจะจบก็ตี 3 ตี 4 แต่ก็แฮปปี้ทั่วหน้า เพราะทีมขวัญใจ บราซิล เอาชนะ อิตาลี คู่ชิงไปได้ถึง 4-1

หลังจากนั้นมา ฟุตบอลโลกก็ติดลมกลายเป็นกีฬาที่คนไทยให้ความนิยมชมชอบและติดตามดูชมมากที่สุดกว่ากีฬาประเภทอื่นๆ

ทำให้มีการถ่ายทอดสดมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1974 หรืออีก 4 ปีต่อมา ที่เยอรมันตะวันตก เป็นเจ้าภาพ โดยถ่าย 2 นัด…นัดเปิดกับนัดชิง และจากนั้นก็ถ่ายนัดเปิดกับนัดชิงเรื่อยมาจนถึงขั้นถ่ายครบทุกคู่ในช่วงหลังๆ และปัจจุบันนี้

นึกย้อนกลับไปในอดีต ถ้ารัฐบาลยุคนั้นไม่ใช่เผด็จการและไม่ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด อาจจะไม่มีใครคิดเอาข่าวบอลโลกขึ้นหน้า 1

จึงต้องขอบคุณจอมพลถนอม จอมพลประภาส ที่ความเฮี้ยบของท่านทำให้ “ไทยรัฐ–เดลินิวส์” ดันข่าวบอลโลกขึ้นหัวยักษ์หน้า 1

เมื่อ พ.ศ.2513 หรือเมื่อ 48 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นการสร้างกระแสบอลโลกให้แก่ประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้.

“ซูม”

ข้ามไปยังทูลบาร์